ประวัติความเป็นมา บ้านหลวงประเทือง

บ้านหลวงประเทืองคดี 
หลวงประเทืองคดี
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2425 เดิมชื่อนายชม ผดุงศิริ มีภรรยาชื่อนางเสงี่ยมเป็นลูกครึ่งไทย-จีน ใช้แซ่โค้ว มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน คือ นางบุญยง กัณฑษา (ผดุงศิริ) นางบุญยิ่ง ผดุงศิริ นางนงเยาว์ ผดุงศิริ นายบุญเยี่ยม ผดุงศิริ หลวงประเทืองคดีมีอาชีพรับราชการเป็นอัยการและต่อมาเป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของเมืองพิจิตร เป็นบุคคลที่มีความสำคัญของชุมชนย่านเก่าวังกรด

ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของชุมชนตลาดวังกรด สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2471 เดิมชาวบ้านเรียกบ้านหลังนี้ว่า “บ้านคุณนายแจง” ตามชื่อเจ้าของบ้านเดิมที่เป็นผู้ครอบครอง คือ นางแจงและนายทอง ไทยตรง ซึ่งทั้งสองท่านเป็นชาวเวียดนามที่อพยพมาอยู่เมืองไทย มีบุตรชายหญิง 5 คน ต่อมานายทอง ไทยตรง ซึ่งเป็นคนสนิทท่านโฮจิมินห์ถูกลอบสังหาร นางแจงจึงให้หลวงประเทืองคดีว่าความทำให้มีความสนิทกันและตกลงอยู่กินเป็นสามีภรรยากันและใช้บ้านหลังนี้เป็นสำนักงานให้บริการด้านกฎหมายแก่ประชาชน ใช้ชื่อบ้านว่า “บ้านหลวงประเทืองคดี” สำหรับหลวงประเทืองคดี อดีตเคยรับราชการเป็นอัยการ ต่อมาได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคนแรกของจังหวัดพิจิตร นอกจากนี้ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญของชาวตลาดวังกรด โดยเป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างตลาดวังกรดและเป็นผู้นำการสร้างศาลเจ้าพ่อวังกลม รวมทั้งเป็นที่พึ่งของชาวบ้านวังกรดในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เมื่อนางแจงเสียชีวิต และบุตรชายหญิง 4 คน ได้เสียชีวิตเหลือเพียง พันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง บุตรคนสุดท้ายของนางแจงจึงได้เป็นผู้ครอบครองบ้านหลวงประเทืองคดี ต่อมาพันเอกพิเศษ นายแพทย์วรสิทธิ์ ไทยตรง ได้มอบบ้านหลังนี้ให้กับเทศบาลตำบลวังกรดในพุทธศักราช 2559 หลังจากนั้นจังหวัดพิจิตรได้สนับสนุนประมาณในการปรับปรุงฟื้นฟูจนแล้วเสร็จในพุทธศักราช 2560 และเปิดใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนตลาดวังกรด

ข้อมูลและภาพอ้างอิง/ ช่างภาพ: วศิน ภุมรินทร์
ประวัติและผลงาน: ช่างภาพอิสระ มีความชำนาญพิเศษในการถ่ายงานสถาปัตยกรรม, Interior, Cityscape ถ่ายงานสารคดี และถ่ายภาพบุคคล มีผลงานเผยแพร่ ทั้งสื่อออนไลน์และนิตยสารทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Fearless Organization, WPJA, Room Magazine, Nature Explorer, ATG, อสท https://virtualexpo.asa.or.th/content/page6_award/7

บ้านหลวงประเทืองคดี เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนหลังแรกของชุมชนตลาดวังกรด สร้างโดยช่างชาวเวียดนาม ชื่อนายบัว โดยใช้อิฐที่ปั้นและเผาเอง ปูนหมักแบบโบราณ เป็นอาคารสูง 2 ชั้น และมีห้องใต้ดิน รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก กว้าง 13.60 เมตร ยาว 10.70 เมตร พื้นที่รวมประมาณ 145.52 ตารางเมตร ผนังอาคารหลักเป็นผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก 

ผังพื้นอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ห้องใต้ดินขนาดความกว้างประมาณ 3.80 เมตร ยาว 5.00 เมตร ลึก 1.30 เมตร ซึ่งใช้เป็นที่หลบภัยเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 

นอกจากนี้ยังใช้เก็บทรัพย์สินและหลบซ่อนตัว พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างประกอบด้วย ห้องทำงานของหลวงประเทืองคดี โถงกลาง ห้องดื่มน้ำชา ระเบียงหน้าบันไดด้านหน้าบ้านสำหรับขึ้นชั้นสอง และระเบียงหน้าบันไดด้านหลังบ้านสำหรับขึ้นชั้นสอง

บ้านหลวงประเทืองคดี เป็นตัวอย่างของการปรับปรุงฟื้นฟูด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ส่วนชั้นบนประกอบด้วยห้องโถงใหญ่ขนาด ห้องนอน โถงกลาง ระเบียงหน้าบันไดด้านหน้าบ้านสำหรับลงชั้นล่าง ระเบียงหน้าบันไดด้านหลังบ้านสำหรับลงชั้นล่าง และบันไดขึ้นดาดฟ้า โดยห้องแต่ละห้องทั้งชั้นล่างและชั้นบนเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน บริเวณหลังบ้านมีบ่อน้ำบาดาลแบบโบราณอายุประมาณ 90 ปี

บ้านหลังนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนตลาดวังกรด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้